สถานการณ์ของอาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพิงภาครัฐ และภาครัฐมอว่าอาชีพเกษตรเป็นภาระที่รัฐต้องช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นอาชีพที่ผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรของประเทศและประชากรโลก ยกตัวอย่างวิกฤติของชาวนาที่เกิดขึ้น ข้าวราคาตกต่ำชาวนาอยู่ไม่รอด เพราะชาวนาถูกปลูกฝังให้ทำการเกษตรสมัยใหม่จากการผลิตเพื่อบริโภคเป็นการผลิตเพื่อการค้าหรือการส่งออกโดยตั้งเป้าหมายที่ได้ผลผลิตจำนวนมาก การผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตจำนวนมากนั้นต้องใช้ปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อปัจจัยการผลิตสูง ปุ๋ยเคมี สารควบคุมสัตรูพืชในปริมาณมากเช่นกัน นอกจากนี้ยังปลูกข้าวปีละ 2 ถึง 3 ครั้ง ชาวนาถูกปลูกฝังให้เสพติดกับสิ่งเหล่านี้ จนกลายเป็นโรคเรื้อรัง เหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากลึกจนยากที่จะขุด
อาชีพเกษตรไม่ได้มีปัญหาเฉพาะชาวนา แต่รวมถึงอาชีพเกษตรทุกอาชีพที่เป็นเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดเล็ก มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเงินสะสมที่ใช้เป็นทุนสำหรับประกอบอาชีพ ต้องใช้เงินทุนจากการขายผลผลิตในแต่ละรอบการผลิต บางรายต้องกู้เงินมาเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในแต่ละรอบการผลิต ซึ่งเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่ภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร โดยการประกันราคาผลผลิต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เหมือนสุภาษิต "วัวหายล้อมคอก" ภาครัฐไม่ได้แก้ปัญหาให้ตรงจุดเกาไม่ถูกที่คัน มันก็ยังคันอยู่เหมือนเดิม รัฐสูญเสียงบประมาณไปกับการแก้ปัญหาปีละหลายพันล้านบาท ภาครัฐยิ่งแก้ปัญหายิ่งทำให้เกษตรอ่อนแอร์พึ่งตนเองไม่ได้
และที่สำคัญนโยบายการขึ้นค่าแรงงาน วันละ 300 บาท ยิ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยยิ่งอยู่ไม่รอดยิ่งขึ้น ค่าแรงสูงปัจจัยการผลิตสูง ราคาสินค้าตกต่ำ สุดท้ายเกษตรกรล้มละลาย ต้องขายที่ดินปลดหนี้สิน จากเจ้าของที่ดินผืนเล็กกลายเป็นอาชีพรับจ้าง วันละ 300 บาท ต้องชื่นชมคนที่เสนอแนวคิดนี้ที่เพิ่มค่าแรงงานให้สูงไว้ (เป็นแนวความคิดที่ส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่รอด) มีแต่นายทุนหรือเกษตรกรแปลงใหญ่เท่านั้นที่รอด ซึ่งอนาตคตรงกับที่มีนักวิชาการหลายท่านได้พูดไว้ ว่าการเกษตรของประเทศไทยเป็นแบบสหรัฐอเมริกา เป็นการเกษตรแปลงใหญ่ มีเจ้าของคนเดียว หากจะบอกว่าเป็นเหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือใต้หวันก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะทั้งสองประเทศ เกษตรกรเป็นอาชีพที่รวย เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ การทำการเกษตรอาศัยเครื่องทุ่นแรงขนาดเล็กที่ราคาไม่สูงมากจนเกษตรกรจับต้องไม่ได้ ชาวนาหรือเกษตรกรเข้าถึงแหล่งข้อมูลงานวิจัยที่เกษตรกรเอามาใช้ได้จริง แต่สำหรับประเทศไทย มีรายงานการวิจัยมากมายมหาศาลแต่ทำไมเกษตรกรจับต้องไม่ได้ ทำไมข้อมูลเหล่านั้นจึงไม่ถึงมือเกษตรกร ยกตัวอย่างข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวประเทศไทยมีหลายพันเรื่องแต่ทำไมข้อมูลยังไม่ถึงชาวนา
ถึงเวลาหรือยังที่เกษตรกรต้องหันมาพึ่งพาตนเอง หากเกษตรกรไม่เข้มแข็งการพึ่งพาตนเองก็คงเป็นไปได้ยาก การบำบัดโรคเรื้อรังที่สะสมมานานเป็นสิ่งที่ไม่ยากหากเราลงมือทำ ชาวนาสมัยก่อนเขาทำนาปีละครั้ง สิ่งแรกที่ชาวนาทำคือการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ที่เหลือถึงจะขายให้กับโรงสี ก็จะได้เงินมาก้อนหนึ่งสำหรับค่าใช่จ่ายที่จำเป็น ข้าวในยุ้งที่เก็บไว้หากจำเป็นต้องใช้เงินชาวนาเอาออกมาขายได้ตลอดเวลา เหมิอนเป็นเงินเก็บไว้ใช้ในยามขัดสน เสร็จฤดูทำนาในนาข้าวชาวนาปลูกพืชไร่หรือพืชผัก เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง พริก ฟัก แฟง แตงโม เหล่านี้เป็นต้น นอกจากชาวนามีรายได้เสริมแล้ว ยังเป็นการปลูกพืชหมุนเวียนที่สามารถตัดวงจรโรคและแมลงได้อีกด้วย ที่บ้านยังมีการเลี้ยงสุกรไว้กินเศษอาหารในครัวเรือน (ถือเป็นเงินเก็บอีกก้อน) และขายได้เงินมาใช้จ่ายในครัวเรือน แถมยังมีไก่พื้นเมืองวิ่งเล่นบริเวณบ้านไว้กินไข่ เมื่อไก่มีจำนวนมากขึ้นจับไปขาย หรือเมื่อมีงานเทศการก็จับมาทำอาหารโดยไม่ต้องซื้อเนื้อไก่จากตลาด นี่เป็นวิถีชีวิตชาวนาในอดีตที่เราสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับยุกต์ปัจจุบันได้ เพียงแค่ตัดใจ เดินสู่ความพอเพียง มีอยู่ มีกิน มีแจกเหลือขายปลดหนี้ มีชีวิตที่ดีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น