วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องเล่า "ชีวิตในชนบท:ความมั่นคงทางอาหาร"

เรื่องเล่า "ชีวิตในชนบท:ความมั่นคงทางอาหาร"ชีวิตในวัยเด็ก


            ดิฉันเป็นบุคคลที่โชคดีได้เกิดเป็นคนจังหวัดชุมพร เพราะจังหวัดชุมพรมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหาร มีทุกอย่างให้กิน (และเป็นของเล่นสมัยวัยเด็ก)ได้ตลอดทั้งปี แม้กระทั่งลำไยที่ได้ชื่อว่าเป็นผลไม้เมืองหนาว ยังสามารถปลูกได้ในจังหวัดชุมพร  นอกจากมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารแล้ว คนชุมพรยังเป็นคนที่รักสงบ ใช้ชีวิตอยู่แบบพอเพียง ถ้าใครนั่งรถผ่านเมืองชุมพรสังเกตเห็นได้จากตัวเมือง คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สังคมกลางคืนแทบจะไม่มี สามทุ่มในตัวเมืองเริ่มเงียบ ผู้คนพักผ่อนหลับนอน เพื่อรอรุ่งอรุณของวันใหม่ แต่ในความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ ธัญญาหาร การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และอยู่แบบพอเพียง กำลังจะกลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ
            ดิฉันเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตำบลสวนแตง อำเภอละแม ของจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นอำเภอที่ต่อเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อดิฉันยังเด็กจำได้ว่าในหมู่บ้านที่ดิฉันอยู่ หรือทั้งอำเภอที่ดิฉันอยู่ เป็นพื้นที่ ๆ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่แบบพอเพียงไม่มีเงินก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่อดอยาก ซึ่งถ้าเป็นปัจจุบันคงใช้ชีวิตอยู่ได้ยาก ภาพในใจแต่ครั้งวัยเด็กย้อนกลับเหมือนภาพถอยหลังของฟิล์มหนัง เมื่อดิฉันอายุ 3 ขวบ ซึ่งปัจจุบันดิฉันอายุ 50 ปี ช่วงระยะเวลาผ่านมาไม่กี่ปีทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในชนบทเปลี่ยนไปราวฟ้ากับดิน
            ดิฉันเกิดในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ที่พูดอย่างนี้เพราะสมัยที่ดิฉันยังเด็กการคมนาคมยังไม่สะดวก ความเจริญทางด้านวัตถุยังเข้ามาไม่ถึง การเดินทางระหว่างตัวอำเภอใช้รถไฟที่เป็นหัวรถจักรไอน้ำอาศัยไม้ฟืนในการเผาไหม้ (ปัจจุบันมีโชว์อยู่ที่หน้าสถานีรถไฟชุมพร) การเดินทางภายในหมู่บ้าน หรือต่างตำบลใช้เกวียนเทียมวัวหรือเทียมควาย หรือใช้การเดินเท้า ซึ่งถ้าไกลหน่อยก็ต้องใช้เวลาในการเดินทางทั้งวัน บ้านใครมีเกวียนถือว่าบ้านนั้นมีฐานะพอสมควร เรื่องถนนหนทางไม่ต้องพูดถึงมีทางเกวียนให้วิ่งได้ถือว่าสุดยอด
            ความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหาร เหมือนสุภาษิตที่เขากล่าวไว้ว่า ประเทศไทยนอกจากได้ชื่อว่า สยามเมืองยิ้ม ยังได้รับฉายาว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”  ผู้คนจึงไม่อดอยาก ดิฉันเป็นลูกชาวนา มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน มีผู้ชาย  1 คน ผู้หญิง 5 คน ทั้ง 6 คนแบ่ง 2 กลุ่ม  คือ 1-3 คนแรก โตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนคนที่ 4-6 เป็นชุดที่ยังเล็ก จึงย่อมซุกซนเป็นธรรมดา ในระหว่างพี่น้องทุกคนมีอายุห่างกันประมาณ 3 ปี ข้าพเจ้าเป็นลูกคนเล็ก จึงไม่ค่อยได้รับผิดชอบงานบ้านซักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เวลาหมดไปกับความซุกซน ปัจจุบันดิฉันมักพูดคำว่าโชคดีอยู่บ่อยครั้ง ที่ได้เกิดมาเป็นลูกชาวนา เพราะดิฉันได้รู้จักชีวิต และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ที่คนสมัยรุ่นเดียวกับดิฉันอีกหลายคนไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชนบท เมื่อดิฉันยังเด็กดิฉันเองก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากครอบครัวและสังคมในหมู่บ้านดิฉันมากนัก แต่ปัจจุบันเมื่อดิฉันคิดมองย้อนอดีตดิฉันได้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นได้ให้อะไรกับชีวิตของดิฉันมากมายมหาศาล ชีวิตของดิฉันที่มายืนอยู่จุดนี้ได้ เพราะดิฉันได้รับบทเรียนที่ถูกฝึกฝนมาจากลูกชาวนา
            บ้านดิฉันเป็นบ้านไม้เรือนไทยของภาคใต้ ยกพื้นสูงด้านล่างเปิดโล่ง คนภาคใต้เรียกว่า ใต้ถุนบ้านใต้ถุนจึงเป็นลานเอนกประสงค์ของครอบครัว บริเวณรอบตัวบ้านเป็นลานดินโล่ง เลยจากบริเวณบ้านเป็นยุ้งข้าว ใต้ยุ้งข้าวมีรังไก่ ที่เลี้ยงไว้กินไข่ รอบตัวบ้านเป็นผักสวนครัว มีข่า ตะไคร้ ขมิ้น กระชาย กระเพรา โหระพา ใบราแกงไก่ พริก มะเขือ ชะอม ตำลึง บวบหอม ถั่วฝักยาว ผักพวกนี้ปลูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปอย่างละต้นสองต้นแต่ก็มีกินตลอดทั้งปี นอกจากนี้มีต้นมะนาวบนจอมปลวก ส้มเขียวหวาน ขนุน นุ่น(ปัจจุบันหาอยากไม่ค่อยมีบ้านใครปลูก แม่เก็บฝักมาปั่นทำที่นอนกับหมอนไว้หนุน) ต้นกล้วยน้ำว้า(ปลูกไว้เอาใบและผลสุกมาทำขนมไปวัด ต้นกล้วยนำไปเลี้ยงหมู) ถัดไปเป็นสวนมะพร้าว ในสวนมะพร้าวเป็นคอกหมู เลี้ยงแม่พันธุ์ไว้กินเศษอาหาร พวกเราเรียกว่าธนาคาร เพราะเวลาหมูคลอดหมายถึงครอบครัวจะมีรายได้ที่เป็นเงินเหลือเก็บ เลยจากคอกหมูเป็นคอกควายที่เลี้ยงไว้ทำนาโดยเฉพาะ หรือเป็นธนาคารสำรองเวลาครอบครัวต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เลยจากคอกควาย เป็นพื้นที่ว่างไว้ปลูกข้าวไร่ และแตงโมขาย จากนั้นเป็นป่าผสมมีประมาณ 3 ไร่ ในป่ามีไม้หลากหลายชนิด เท่าที่จำได้มีต้นหวาย ต้นเตย ต้นค้อ ต้นกระพ้อ ผักภูมิ ต้นพิกุล และไม้อื่น ๆ อีกที่พ่อตัดมาใช้ประโยชน์ ทั้งเผาถ่าน และสร้างขนำ  ซึ่งสมัยนั้นดิฉันไม่รู้จัก เหตุที่รู้จักต้นหวาย ต้นเตย ต้นค้อ ต้นกระพ้อ ผักภูมิ เนื่องจากต้นหวายสำหรับพ่อแล้วไว้ทำแซ่หาบเลียงข้าวในฤดูเก็บเกี่ยว แต่สำหรับดิฉันคืออาหารอันโอชะเมื่อลูกหวายสุก  ต้นเตยพ่อตัดให้แม่สานเสื่อไว้ตากข้าว และสานโกรกไว้หาบเลียงข้าว(โกรกใช้ใส่ในแซ่) ต้นเตยสำหรับเด็กอย่างดิฉันใช้ทำลูกลมและสานตะกร้อไว้เตะเล่นตอนเย็น ๆ กับเพื่อน ต้นค้อพ่อเอาใบมาเย็บเป็นจากทำหลังคาขนำในนาไว้หลบแดดหลบฝน ดิฉันเอามาทำปีกกาทำขนำเหมือนกันแต่ไว้เล่นข้าวแกงกับพี่ ๆ อีก 2 คน ต้นกระพ้อไว้ทำข้าวต้มเวลาทำบุญเดือนสิบ หรือในงานประเพณีต่าง ๆ ต้นผักภูมิแม่จะใช้พี่ ๆ ไปเก็บมาแกงเลียงไข่ให้กิน ต้นพิกุลอยู่บนจอมปลวกริมถนนเป็นอาหารของดิฉันอีกชนิดหนึ่ง ลูกพิกุลเวลาสุกทั้งเปลือกและเนื้อมีสีเหลือง ถ้าสุกงอมมากหน่อยจะมีรสหวานปนฝาดนิดหน่อย แต่สมัยเด็กกินอะไรก็อร่อยไปหมด
            ฝั่งถนนอีกด้านของบ้านมีหนองน้ำที่แม่ปลูกผักกระเฉด ผักบุ้งที่มียอดสีแดงไว้เก็บกิน ใกล้หนองน้ำมีกอไผ่ตง เวลาออกหน่ออ่อน ๆ แม่จะตัดมาหั่นฝอย ๆ ผัดเป็นหมี่ ส่วนที่เหลือแม่นำไปดองใส่โอ่งเล็ก ๆ ไว้กินบ้างแจกเพื่อนบ้านบ้าง ส่วนต้นไผ่พ่อตัดมาทำกระบอกตาล(ไว้ใส่น้ำหวานจากงวงมะพร้าวหรืองวงตาลโตนด)มาทำน้ำตาลไว้กินในครบครัวและเป็นของฝากเวลาญาติมาเที่ยวที่บ้าน น้ำหวานอีกส่วนหนึ่งสำหรับพ่อไว้ทำกระแช่เลี้ยงเพื่อนฝูงตอนเย็น ๆ ต้นไม้ที่บ้านดิฉันยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ยังมีต้นมะขามขนาดใหญ่ที่พ่อเอาเชือกควายมาผูกเป็นบ่วงสองอันเอาไม้กระดานใส่ในบ่วงก็กลายเป็นชิงช้าไว้ให้ดิฉันและพี่ ๆ เล่นกัน ใกล้ต้นมะขามมีต้นละมุด 2 ต้น มีชนิดลูกเล็กซึ่งแม่บอกว่าเป็นละมุดพริก และมีชนิดลูกใหญ่ด้วย เวลาละมุดออกลูกแม่จะเก็บมาแกงส้ม หรือยำละมุดเป็นที่เอร็ดอร่อยกันทั้งบ้าน เวลาละมุดสุกดิฉันรีบตื่นเช้าแข่งกับพี่ ๆ ใครเก็บละมุดได้มากกว่ากัน แม่บอกว่าเก่ง (เป็นวิธีการฝึกลูก ๆ ของแม่ให้เป็นคนตื่นเช้า แต่สำหรับพ่อวิธีการฝึกให้ลูกตื่นเช้าพ่อเล่านิทานก่อนนอนในนิทานของพ่อมีตัวละคร 3 คน ชื่อ มะ อะ  อุ พ่อบอกว่าทั้ง 3 คนเรียนหนังสือเก่ง เพราะเขาตื่นไปเก็บดอกมะพร้าวที่หล่นใหม่ ๆ ก่อนนกจะบินข้ามนำมากิน ห้ามเคี้ยวใส่ปากแล้วกลืน แต่ก่อนกินต้องเสกคาถา ซึ่งคาถาดิฉันจำไม่ได้ ดิฉันและพี่ ๆ อีก 2 คน รีบตื่นเช้าเก็บดอกมะพร้าวกิน ดิฉันจึงสงสัยทุกวันนี้ เพราะ 3 คนพี่น้องกลายเป็นคนเรียนเก่งเพราะพ่อกับแม่ฝึกหรือเพราะดอกมะพร้าว) จากต้นละมุดเป็นต้นกระท้อน มีอยู่ 2 ต้น ต้นเล็กเรียกกระท้อนห่อลูกโต ต้นใหญ่เรียกกระท้อนบ้านลูกเล็ก ๆ หวานอร่อยทั้ง 2 ต้น แม่เก็บมาปอกเปลือกเอาเนื้อไปแกงกะทิ บางครั้งพี่ ๆ เอาไปทำกระท้อนทรงเครื่อง ส่วนดิฉันทำน้ำปลาหวานกิน ใกล้ ๆ ต้นกระท้อนมีฝรั่งขี้นกอยู่ต้นหนึ่งเป็นอาหารของดิฉันเหมือนกัน ทำไมเขาเรียกฝรั่งขี้นกอาจเป็นเพราะนกมาขี้ทิ้งไว้แล้วงอกก็ได้ เป็นลักษณะผลเล็ก ๆ เปลือกสีเขียวนวล เนื้อในและเมล็ดเป็นสีชมพูหวานอร่อยเช่นกัน นอกเหนือจากนี้เป็นทุ่งโล่งมีหญ้าขึ้น แต่ในดงหญ้าก็มีต้นมะพร้าวนกคุ้ม เป็นต้นเล็ก ๆ สูงจากพ้นดินประมาณ 50-60 เซ็นติเมตร มีหัวเล็ก ๆ ใต้ดิน เวลากินก็ถอนทั้งต้นตัดเอาเฉพาะหัวมากินใครได้กินโม้ไม่จบเพราะต้องคอยเฝ้าไว้ เลยไปหน่อยเป็นบ่อน้ำไว้กิน อาบ ซักเสื้อผ้าในครอบครัว ใกล้บ่อมีต้นซัม ต้นมะเม่า และต้นทุเรียนเทศ
            จากบ่อน้ำเป็นป่าละเมาะที่สามารถเดินลัดเลาะไปทุ่งนาได้ ในป่าละเมาะมีต้นมังเคร(ต้นดอกเอนอ้า) ดอกสีม่วงอ่อน เนื้อในผลสีดำ รสชาติหวานแต่กินแล้วดำไปหมดทั้งปาก นอกจากมังเครมีต้นกระทุ เมื่อสุกลูกสีม่วงเข้มปนดำ ต้นสังข์ขันต้นมีหนามแหลมคมแต่รสชาติอร่อยหวานอมเปี้ยว ต้นเดือยไว้เก็บร้อยทำสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต้นลูกไอเอาไว้ทาเล็บ ต้นคอลั้งลักษณะใบคล้ายเงาะ ต้นสูงใหญ่ราวๆ ๒๐ เมตรขึ้นไป ปลายกิ่งก้านของต้นไม้ชนิดนี้มีผลสุกสีแดงสดพราวไปทั้งต้นรดชาติเปรี้ยว เมื่อถึงฤดูทำนา ดิฉันไปช่วยพ่อเหยียบนาตอนเช้ามืด(นำควายหลาย ๆ ตัวไปเหยียบเพื่อเตรียมเทือกก่อนคราดเอาหญ้าออก) แต่ก่อนช่วยพ่อ ดิฉันแวะไปดูใต้โคนต้นวาที่มันขึ้นอยู่บนคันนาเพื่อเก็บลูกกิน เมื่อมันสุกงอมได้ที่มันหล่นลงมา ลูกคล้ายลูกจันทร์สีเหลือง แต่เนื้อในคล้ายมังคุด พ่อบอกว่ากินได้ แต่อย่ากินเยอะเพราะถ้ากินมากทำให้แน่นหน้าอกและอาเจียน เมื่อเหยียบนาเสร็จก่อนกลับพ่อแวะเอาลูกกุ้งลูกปลาที่พ่อนำไซมาวางไว้ระหว่างคันนาที่เป็นทางระบายน้ำเข้านา(เรียกว่าดักไซ) กลับบ้าน ส่วนดิฉันเองจับปูนา ถอนต้นผักลิ้น (ผักปอดน้ำ) ผักแว่น(ใบบัวบก)ไปฝากแม่
            เมื่อปักดำเสร็จพ่อทำน้ำตาลและกระแช่ไว้กิน หน้าที่ของดิฉันวิ่งตามหลังพ่อไปยืนเฝ้าใต้โคนต้นตาลโตนด เมื่อได้เย็นเสียงกระบอกตาลชนกันดังโกร่งเกรง ๆ ดิฉันรู้แล้วว่าอีกซักประเดี๋ยวจะได้ลิ้มรสน้ำหวาน ๆ และอาจมีของแถมเป็นลูกตาล 1 ทะลาย หรือด้วงงวงที่มีเขายาว ๆ ไว้ไปชนแข่งกับเพื่อน ๆ สำหรับลูกตาลถ้าเป็นลูกตาลอ่อนก็ปอกเปลือกเอาเนื้อในมากิน เปลือกส่วนหัวหั่นบาง ๆ เอาไปแกงกะทิ ถ้าเป็นลูกตาลสุกนำเอาไปทำขนมลูกตาล ก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเป็นฤดูฝน ทุกคนทราบดีว่าฤดูฝนเมื่อไหร่จะได้กินข้าวเหนียวนึ่งกลอย พ่อจะขุดหัวกลอยมาให้แม่หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใส่ผ้าด้ายดิบสีขาว มัดให้แน่นนำไปผูกยึดไว้กับไม้ให้น้ำไหลผ่าน แล้วนำมานึ่งใส่มะพร้าวขูดผสมน้ำตาลทรายกินอร่อยมาก  นอกจากมีหัวกลอยอร่อย ๆ กิน ยังมีแมงดานา มันชอบวางไข่บนใบหญ้า พี่ ๆของดิฉันชอบนำมาย่างกิน นอกจากนี้ยังมีกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ ๆ พ่อมักนำมาให้ดิฉัน พ่อคงคิดว่าดิฉันเป็นลูกคนเล็กจึงให้ แต่ดิฉันเอาไปให้พี่ ส่วนดิฉันขอเฉพาะส่วนหัว เอาไปตากแดดให้แห้งนำไปเล่น (ซึ่งดิฉันไม่ชอบกินพวกเนื้อต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน) จำได้ว่าพอฝนเริ่มตกพ่อบอกว่าฝนไล่ปลามาแล้ว ดิฉันชอบให้ฝนตก เพราะฝนตกเมื่อไหร่ดิฉันชอบวิ่งขึ้นบ้านห่มผ้านอนฟังเสียงฝนตก ฟังแล้วไพเราะดี เมื่อฝนหยุดตกหน้าบ้านมีน้ำขังประมาณตาตุ่ม มีปลาหมอ ปลาตะเพียน และปลาตัวเล็ก ๆ ว่ายน้ำอยู่เต็มไปหมด มันมาตามกระแสน้ำที่ไหล ซึ่งภาพที่เห็นเป็นเรื่องธรรมดาไม่มีใครจับมากิน ทุกคนถือเป็นเรื่องปกติ พอเริ่มเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ดิฉันก็จะรู้ว่าถ้าไปนากับพ่อแล้วจะได้นั่งเกวียน และได้กินมะม่วงกล้วย หรือมะม่วงคัน ลูกหว้า ที่ขึ้นอยู่บนคันนา แถมด้วยปี่ที่ทำจากต้นข้าว ในการเก็บเกี่ยวข้าวนั้นทั้งหมู่บ้านใช้วิธีการลงแขกช่วยกันจนกว่าจะเกี่ยว และนวดข้าวเสร็จทั้งหมู่บ้าน เป็นอันว่าเสร็จสิ้นฤดูกาลทำนา คนทั้งหมู่บ้านรู้จักดิฉันเป็นอย่างดีเพราะไม่มีบ้านไหนที่ดิฉันไม่ไปช่วยเขา ดิฉันจึงกลายเป็นคนโปรดในหมู่บ้าน บ้านใครมีอะไรดิฉันรู้หมด และได้กินของอร่อย ๆ ทุกบ้าน เพราะเขานำมาให้หรือมารับไปกินที่บ้าน ทั้งมะปริง มะปราง มะไฟ มะเฟือง กระท้อน ลูกมะหวด (กำซำ) หว้า มะเม่า ระกำ ตะขบ(ขร็อบ) นมแมว (ชมพู่น้ำดอกไม้) แถมบางครั้งรวมทั้งขนมด้วย เมื่อสิ้นสุดฤดูทำนา ชาวประมงนำกะปิ หรือกุ้งหอย ปู ปลา มาแลกกับข้าวเปลือกกลับไปไว้กินในครัวเรือน ส่วนชาวนาก็มีกะปิไว้กินได้ตลอดทั้งปี วิถีชีวิตของชาวนากับชาวประมงจึงมีความผูกพันกัน
จากที่เล่ามาทั้งหมดยังมีพืชอีกหลายชนิด ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น ผักเหลียง ผักกูด ผักหวานบ้าน มะตูม กระถิน ยอ จิก แต้ว มะกอก  ผักปลั่ง ชะพลู ถั่วพู มะระ ฝักทอง มะละกอ มะอึก มะเขือพวง แมงลัก ผักโขม ผักเสี้ยน สะตอ มะกรูด พริกไทย ตะลิงปลิง ต้นแค สะเดา ทองหลาง ชะมวง เพกา เท่าที่จำได้ เห็นได้ว่าในชนบทมีพืชอาหารมากมายมหาศาล การใช้ชีวิตของคนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเงินแทบไม่มีความสำคัญเลย ไม่มีเงินขอให้มีข้าวกินก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะทุกบ้านเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดไว้กินเนื้อและไข่ เลี้ยงหมูไว้เป็นเงินเหลือเก็บ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายไว้ใช้แรงงาน หรือเวลามีเรื่องต้องใช้เงินก้อนใหญ่ก็ขาย นอกจากนี้ในหมู่บ้านปลูกพืชผักและไม้ผลไว้กินเอง แถมยังมีผลไม้ป่าอีกมากมายที่นำมากินได้ ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันนี้ภาพเหล่านี้ไม่หลงเหลือ ภาพที่ทุกคนอยู่กันแบบพี่น้องมีความเอื้ออาทรต่อกัน มีอะไรแบ่งปันกันกิน หมดไปจากสังคมในชนบท
ในอดีตชุมชนในชนบทมีความมั่นคงทางการเกษตรและอาหาร สามารถผลิตพืชและเลี้ยงสัตว์ได้เพียงพอต่อการบริโภค ไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอก แต่ปัจจุบันพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารต้องซื้อจากต่างภูมิภาค ไม่เว้นแม้แต่ ข่า ตะไคร้ ขมิ้น กระเพรา กระชาย ที่สามารถปลูกไว้กินเองข้างบ้านได้ หรือแม้แต่ข้าว โดยเฉพาะจังหวัดชุมพรประมาณ 99% ต้องซื้อข้าวกิน ทั้งที่เดิมเกษตรกรในจังหวัดชุมพรมีพันธุ์ข้าวนา และพันธุ์ข้าวไร่ที่ดีเป็นของตนเองอยู่หลายสายพันธุ์  เช่นพันธุ์ข้าวเหลืองปะทิว หรือพันธุ์ข้าวไร่อีกไม่ต่ำกว่า 10 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันคนชุมพรส่วนใหญ่ไม่ปลูกข้าวกินเอง ส่งผลให้พันธุ์ข้าวที่ดีที่มีอยู่อาจสูญพันธุ์ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ถ้าคิดแบบสนุก ๆ สมมุติว่าการคมนาคมขนส่งไม่ได้ทั้งทางรถไฟ และรถยนต์ คนภาคใต้หรือคนชุมพรคงต้องสั่งซื้อข้าวหรือพืชอาหารพวกผัก ทางเครื่องบินกิน และที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้น เด็กหรือเยาวชนในปัจจุบันไม่รู้จักต้นข้าว ไม่รู้จักข้าวเปลือก และยิ่งไปกว่านั้นยังมีคำถามจากเยาวชนอีกว่าต้นแกลบปลูกอย่างไร ดิฉันยกตัวอย่างเฉพาะข้าวอย่างเดียวเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ดิฉันสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งที่ข้าวเป็นพืชอาหารหลักของคนไทย และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ถ้าเป็นคำถามของเด็กในเมืองดิฉันคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ แต่เป็นคำถามของเด็กในชนบทซึ่งเป็นคำถามที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น 
 อย่างไรก็ดีสาเหตุทั้งหมดสืบเนื่องมาจากการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพได้เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่มีการปฏิวัติเขียวเกิดขึ้น กลายเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบใหม่ในเชิงการค้า มีการใช้เครื่องจักรกลในการเกษตร ต้องการพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะคงที่สม่ำเสมอแทนพันธุ์เก่า ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกับสภาพท้องถิ่น แต่มีความผันแปรสูง ให้ผลผลิตสูงแต่ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรเพียงพอแก่ความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรนำเอาสายพันธุ์พืช ที่ให้ผลผลิตสูงเหล่านี้มาเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรจำนวนมากละทิ้งสายพันธุ์พืชทางการเกษตรดั้งเดิม ตัวอย่าง ภาคใต้ ปี 2525 มีพันธุ์ข้าวไร่ 130 พันธุ์ ปัจจุบันมีไม่ถึง 30 พันธุ์ หรือเกษตรกรในประเทศอินโดนีเซียได้ละทิ้งการปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้ข้าวกว่า 1,500 สายพันธุ์สูญพันธุ์ไปในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์พืชทางการเกษตรดั้งเดิมเป็นทรัพยากรทางพันธุกรรมที่มีคุณค่า เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานานหลายช่วงอายุคน จนมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก เช่น มีความต้านทานโรคสูง หรือต้องการธาตุอาหารน้อย ซึ่งสามารถนำเอาไปพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่าง เช่น เมื่อมีการระบาดของโรคโคนเน่าของข้าวขึ้นประมาณ พ.ศ. 2523 - 2533 นักวิจัย พบว่า มีข้าวเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น จากข้าวทั้งหมดมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ที่มีภูมิต้านทานโรคดังกล่าว ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวนี้เป็นสายพันธุ์ข้าวดั้งเดิม นอกจากนี้ การที่เกษตรกรเลิกปลูกพืชสายพันธุ์ดั้งเดิมและหันไปปลูกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงเหมือน ๆ กันเกือบทั้งหมด ทำให้พืชไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ทำให้ไม่ต้านทานโรคแมลง และอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ดังที่เกิดขึ้นกับวิกฤตการณ์ของพันธุ์ข้าวในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2534 - 2535 เพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาลเข้าทำลายข้าวอย่างรุนแรงเกือบทั่วประเทศ ทำให้เกิดสภาวะผลผลิตของข้าวลดต่ำลงมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งข้าวพันธุ์ใหม่ที่ปลูกในประเทศไทยได้มาจากข้าวพันธุ์ดีเพียงไม่กี่พันธุ์ จึงมีพื้นฐานทางพันธุกรรมแคบ เมื่อมีแมลงที่สามารถเข้าทำลายข้าวได้ ข้าวเกือบทุกพันธุ์จึงไม่ต้านทานต่อการทำลายของแมลงในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เกิดการระบาดไปทั่วในบริเวณที่มีการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างในทำนองนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ในหลายท้องที่ ที่มีการสูญหายของเชื้อพันธุ์ด้วยเหตุจากปลูกพืชเป็นการค้าโดยใช้พันธุ์ที่มีพื้นฐานทางพันธุกรรมแคบ การสูญเสียความผันแปรทางพันธุกรรม นับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงและเป็นภาระที่เสี่ยงต่ออันตราย ไม่เฉพาะข้าวเท่านั้น ยังมีพืชผักอีกหลายชนิด ที่เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูก ไม่ทนต่อโรคแมลง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้น้อย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาระหรือต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรต้องแบกภาระสูง
สำหรับจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ทุกครัวเรือนปลูกข้าว พืชผัก ไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคเองในครัวเรือน แต่ปัจจุบันหลังจากการปฏิวัติเขียวเป็นต้นมา ระบบการผลิตทางด้านการเกษตรเปลี่ยนไปจากการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนมาเป็นระบบการผลิตเพื่อการค้า จากการปลูกพืชแบบผสมผสานมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมันส่งผลให้พันธุกรรมพืช ได้แก่ ข้าว พืชผัก ไม้ผล สูญหายไปจากวิถีระบบปลูกของเกษตรกร ส่งผลให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นหากเกษตรกรเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์ตั้งแต่นี้ โดยการเก็บรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองให้กลับคืนมา และสร้างธนาคารเมล็ดพันธุ์และแปลงรวบรวมพันธุ์เป็นของตนเองก็จะช่วยให้ประชาชน และเกษตรกรได้มีเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพที่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้ด้วยตนเอง นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจในครัวเรือนดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหารที่จะส่งผลไปสู่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้อีกด้วย
ที่ดิฉันเล่าเรื่อมาทั้งหมดแม้ไม่ครบถ้วน ดิฉันต้องการที่จะสื่อให้ทุกท่านที่มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ ได้เห็นคุณค่าในสิ่งดี ๆ ที่เคยมี และกำลังจะไม่มี ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันรักษา


                                                                                                                      ข้าวไร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น